Cover Interview – Thank You Teacher

เข้าใจความเป็นครู เข้าถึงความเป็นนักเรียน 

ผ่าน 6 นักแสดงจาก Thank You Teacher 

 

“นักเรียนทั้งหมดทำความเคารพ สวัสดีครับ คุณครู” ภาพจำของเราตอนเด็กยามเมื่อเข้าโรงเรียนจะกลับมาอีกครั้งกับซีรีส์ไทยน้ำดีที่รีเมคมาจากต้นฉบับเกาหลีอย่าง Thank You Teacher ที่ได้นักแสดงมาร่วมประชันฝีมือกันอย่างคับคั่ง ในบทบาทความเป็นครูและนักเรียนที่มีเบื้องลึกเบื้องหลังที่น่าสนใจ ทันต่อกระแสสังคมที่กำลังพูดถึงประเด็นการศึกษาอย่างเข้มข้น

POSH MAGAZINE ขอเชิญครูและนักเรียน “โรงเรียนผาธรรม” มาพูดคุยกันสักนิดถึงคาแร็คเตอร์ที่ตัวเองได้รับ รวมถึงความรู้สึกลึกๆ ในการรับหน้าที่ดังกล่าวว่า พวกเขาเข้าใจและเข้าถึงอาชีพและตัวตนของตัวเองอย่างไร เริ่มจากฝั่งครูก่อนและปิดท้ายด้วยเด็กนักเรียน

ครูโกะ-เฌอปราง อารีย์กุล

POSH: ถ้าแนะนำครูโกะให้เรารู้จัก เขาเป็นครูแบบไหนในสายตาเฌอปราง

เฌอปราง: ครูโกะเป็นคนตั้งใจทำงานมากๆ ถึงเขาจะอ่อนประสบการณ์ แต่เขาทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อลูกศิษย์ทุกคน โดยแรงบันดาลใจที่ครูโกะอยากเป็นครู มาจากครูของตัวเอง แต่ครูคนนั้นเจอเหตุการณ์หนักมากในชีวิต จนครูโกะก็แอบเสียศูนย์ไม่น้อย นั่นเลยทำให้เธอต้องก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านั้นไปให้ได้ รวมถึงนักเรียนที่ครูโกะต้องรับมือก็มีปัญหาไปคนละแบบ ซึ่งเธอมีความปรารถนาดีที่จะให้เด็กๆ ทุกคนได้เจอตัวตนของตัวเองจริงๆ 

POSH: ทำการบ้านกับความเป็นครูอย่างไร

เฌอปราง: อ้างอิงมาจากคุณครูของตัวเองส่วนหนึ่ง ที่เขามีความใส่ใจและเต็มที่กับเด็ก เลยนำพลังตรงนั้นมาเป็นหัวใจหลักในการแสดง จำได้ว่า เขาให้คำแนะนำกับชีวิตเยอะมาก และเราเองก็ได้เลือกหนทางตัวเองผ่านคำแนะนำของครูเหมือนกัน ซึ่งจุดที่คิดว่ายากในตัวของครูโกะคือ การค่อยๆ พัฒนาทักษะและความต่อเนื่องของอารมณ์ ซึ่งเราต้องจดและจำว่า ฉากนี้อารมณ์ระดับไหน ฉากที่แล้วพูดตะกุกตะกักอยู่ ฉากนี้เก่งและมั่นใจขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง และฉากนี้คือเก่งแล้ว

POSH: เด็กคนใดที่ครูโกะคิดว่า รับมือยากที่สุด แล้วความเป็นจริง เด็กคนนั้นรับมือยากหรือไม่

เฌอปราง: เด็กชายดิน (นิว ชยภัค) รับมือยากที่สุด แต่จะยากอย่างไร ไปดูใน Thank You Teacher (หัวเราะ) ส่วนถ้าในความเป็นจริง นิวมีความโตประมาณหนึ่ง เป็นเด็กมหาวิทยาลัยแล้ว เลยไม่ได้ยากเท่าไหร่ แต่ในความเป็นจริง คนที่ยากคือ ‘โทนี่’ ยากในที่นี้ไม่ใช่ว่าเข้าถึงยาก แต่เราเล่นกับเด็กไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ ไม่รู้จะเข้าจังหวะไหน ต้องรับมือกับน้องอย่างไร ตรงนี้คิดว่ายากอยู่เหมือนกัน

POSH: ฉากที่อยากจับตาดูให้ดีของครูโกะ

เฌอปราง: ฉากที่แสดงคนเดียวในห้องแล้วร้องไห้ พี่ทีมงานบอกว่า กล้องดอลลี่มาแล้วต้องมีน้ำตา 1 หยดรับกล้อง เราก็รู้สึก เอ๊ะ! แล้วฉากนั้นสลับเหตุการณ์ระหว่างโกะตอนเป็นครูและโกะตอนเป็นเด็ก อย่างถ้ากล้องมาตรงนี้ต้องเป็นเด็กมองไป แล้วมันจะกลับมาอีกครั้งเป็นครู แล้วอย่างที่บอกไป ความต่อเนื่องของอารมณ์ คือสิ่งที่เราจัดการได้ยาก ตอนเด็กร้องไห้หนัก ตอนเป็นครูน้ำตาต้องแค่ 1 หยด ซึ่งเครียดมากเหมือนกัน จำได้ว่าตอนนั้นแสดงหลายเทคกว่าจะผ่าน

POSH: สิ่งที่ได้เรียนรู้จากความเป็นครูโกะ

เฌอปราง: อาชีพครูเป็นอาชีพเรียกร้องทักษะในตัวเยอะมาก พอมาแสดงแล้ว เรายิ่งเคารพและนับถือครูทุกคนมากขึ้น เพราะงานที่ต้องรับผิดชอบมันหนักมาก ดูแลเด็กแต่ละห้องไม่ต่ำกว่า 30-40 คน หรือบางทีเป็นร้อยคนก็มี ไม่ใช่งานง่ายๆ เลย ขนาดแสดงบางครั้ง ยังนึกย้อนกลับไปมองตัวเองเลยว่า ฉันทำตัวน่ารักกับครูตอนนั้นหรือเปล่า (หัวเราะ) นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้และชื่นชมความเป็นครูและอาชีพนี้มากๆ 

POSH: อยู่ร่วมกับครูโกะมาร่วมปี อยากบอกอะไรกับ “ครูโกะ”

เฌอปราง: เก่งมาก ดีใจและยินดีด้วย ที่เขาเจอในสิ่งที่ถนัดและอยากทำสักที ซึ่งสิ่งที่เขาเจอมันหนักหนาจริงๆ จากเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อจิตใจ ไม่ง่ายเลยที่จะผ่านมันไปได้ แถมยังรู้สึกผิดกับตัวเองอีก และพอเขาก้าวขาเข้ามาเป็นครู เขาก็ทำอะไรพลาดเยอะนะ แต่อย่างที่พูดไป ครูโกะตั้งใจเต็มที่และมีลูกฮึดสูงมาก เป็นคนไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ มันเลยทำให้เขาผ่านมาได้อย่างสวยงาม เธอเก่งมากและยินดีด้วยจริงๆ

ครูธาวิน – เอ็มดี ณัฐพงศ์ พิบูลธนเกียรติ

POSH: ครูธาวินในสายตาเอ็มดีเป็นอย่างไร

เอ็มดี: ผมว่าเขาเป็นคนจริงจัง มีความใส่ใจ เป็นคนเก็บรายละเอียด แต่ว่าในสถานการณ์บางครั้ง มันมีปัจจัยที่เขาต้องลดทอนอุดมการณ์ตัวเองลงไปบ้าง ไม่อย่างนั้น เขาอาจอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นไม่ได้ ถามว่าเขาเป็นคนดีไหม เขาเป็นคนดี แต่ไม่ใช่คนเปิดเผย ถ้าคุณดีกับเขา เขาก็พร้อมที่จะไว้ใจ แต่ถ้ามีใครไม่ดีกับเขา เขาก็เลือกที่จะไม่สุงสิงกับคนนั้นอีกต่อไป และรับผิดชอบในส่วนงานตัวเองให้ดีที่สุด

POSH: ความยากง่ายในการทำการบ้านบทธาวิน

เอ็มดี: ไม่ได้ยากและก็ไม่ได้ง่าย มันคือความท้าทายที่ผมต้องก้าวข้ามไปให้ได้ อธิบายคือ ผมไม่ได้เป็นคนถนัดภาษาไทยมาก แต่ก็ไม่ได้อยู่ในระดับแย่ ซึ่งสิ่งที่ผมกังวลคือ เนื้อหาในบทที่เราจะต้องสอนภาษาให้กับนักเรียน อย่างน้องส่วนนี้ผมอาจจะต้องทำการบ้านหนักขึ้นมาหน่อย ต้องไปปรึกษาครูที่เขาสอนภาษาไทยว่า เขามีวิธีการสอนอย่างไร วางตัวอย่างไรในห้องเรียน แล้วทำให้เด็กมีแรงจูงใจที่อยากจะเรียนอย่างไร ยิ่งวิชาภาษาไทย บางคนก็อาจจะบอกว่า เราก็พูดกันอยู่ทุกวัน แต่พูดทุกวันกับเข้าใจมันจริงๆ ผมว่าต่างกัน มันเลยเป็นความท้าทายที่น่าสนใจสำหรับผม

POSH: ฉากไหนที่ทำให้เอ็มดีสัมผัสหรือเข้าใกล้ครูมากที่สุด

เอ็มดี: ทุกฉากเลย เพราะครูทุกคนในเรื่องจะมีกรอบของตัวเองที่แตกต่างออกไป ธาวินก็มีกรอบความคิดของตัวเอง แต่บางทีมันก็ทำให้ตัวของธาวินทุกข์ จุดนี้ผมว่าก็เป็นจุดยากอีกจุด ยกตัวอย่างเรื่องฉากสอนนักเรียน เราจะถ่ายทอดความเป็นครูอย่างไรให้เด็กเชื่อฟังครู อันนี้คือส่วนหนึ่ง กับอีกส่วนหนึ่งคือ การถอดความเป็นครูธาวินเข้ามาสวมอีกชั้นหนึ่ง พอถ่ายไปถ่ายมา มันทำให้เราซึมซับความเป็นธาวินเข้ามาเรื่อยๆ จริงจังในห้องเรียน จนน้องๆ ที่เป็นนักเรียนบอกว่า “พี่เป็นครูจริงๆ ผมกลัวเลย” ผมว่านี่แหละน่าจะเข้าใกล้ความเป็นครูที่สุดแล้ว

POSH: แล้วครูที่ดีในความหมายของเอ็มดีต้องเป็นอย่างไร

เอ็มดี: ครูจะต้องไม่ใช้สถานะของการเป็นครูมากดนักเรียนอีกที พูดคุยกันด้วยเหตุผลและคุยกับนักเรียนด้วยอารมณ์ปกติ ไม่ใช่เอะอะมาฟาด 20-30 ที ผมว่านอกจากเด็กจะไม่ฟังแล้ว อาจมีปฏิกิริยาแข็งข้อกับเราอีกในอนาคต ดังนั้น การประพฤติกับเด็กต้องเป็นไปอย่างละมุนละม่อมและไม่แข็งกระด้าง ส่วนเรื่องการสอน ผมมองว่าครูที่ดีจะให้ไปจี้จุดในทุกๆ อย่างทุกๆ เรื่องคงเป็นไปไม่ได้ ต้องให้เด็กได้ลองไปทำเองบ้าง เพื่อให้รู้จักคิด วิเคราะห์ และแยกแยะเป็นด้วยตัวเอง สรุปคือ ครูที่ดีต้องรับฟังและรู้เทคนิคในการสอนเด็ก นั่นเอง

POSH: อยู่ร่วมกับครูธาวินมาร่วมปี อยากบอกอะไรกับ “ครูธาวิน”

เอ็มดี: ยกนิ้วโป้งให้เลย คุณผ่านทุกเรื่องที่คุณเจอมาได้ โดยไม่สูญเสียอุดมคติและความเชื่อที่คุณยึดถือ ซึ่งเป็นเป็นอุดมคติที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง คุณเจ๋งมาก

ครูโสภี/ครูวรวรรณ – แพท วง KLEAR 

POSH: อะไรคือจุดที่ทำให้แพทรับเรื่องนี้

แพท: ถ้าให้ตอบตามจริงคือ ไม่มีใครเคยถามว่า แพทอยากลองเล่นหรือแสดงบ้างไหม อีกทั้งยังไม่เคยประกาศให้ใครรู้ว่า จริงๆ แล้วสนใจการแสดง โดยส่วนตัวเป็นคนที่รู้ว่า ตัวเองอินง่าย อารมณ์เยอะอยู่แล้ว เพราะเราเป็นคนเขียนเพลง เราค่อนข้างเข้าถึงเรื่องอารมณ์และความรู้สึกค่อนข้างมาก แต่แค่มีจุดเล็กๆ ที่ไม่แน่ใจว่า เราจะแสดงได้หรือเปล่า ตรงที่ไม่เคยผ่านมาก่อนนี่แหละ พอมีทีมงานติดต่อมาว่า ให้ลองดู เราก็เลยตอบรับทันทีแบบไม่ลังเลเลย

POSH: ความท้าทายของ “ครูโสภี/ครูวรวรรณ” ในความรู้สึกของแพทคืออะไร

แพท: เราว่าท้าทายตรงที่ต้องแสดงสองขยักนี่แหละ ขยักหนึ่งคือทำทุกอย่างด้วยความใสซื่อบริสุทธิ์ ด้วยความตั้งใจอย่างแรงกล้า แต่กลับเจอระบบที่บิดเบี้ยวบางอย่างทำร้าย กับอีกขยักหนึ่งที่เติบโตขึ้น แต่ยังแค้นในสิ่งเก่าๆ ที่ทำให้เราเป็นแบบนี้ เราเลยมองว่าโลกของโสภีและวรวรรณเป็นโลกที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง จำได้ว่าตอนอ่านบทแรกๆ ความรู้สึกที่แวบเข้ามาคือ “เล่นครั้งแรกจะให้เล่นสองขยักเลยเหรอ” (หัวเราะ) แต่ถ้าทีมงานเชื่อและมองว่าเราใช่และเหมาะสม เราก็พร้อมที่จะไปต่อและทำมันอย่างเต็มที่

POSH: อะไรคือสิ่งที่แพทได้เรียนรู้จากการเข้าไปสำรวจโลกของ “ครูโสภี/ครูวรวรรณ”

แพท: ความเจ็บปวดและการโดนทำร้าย เราสามารถนำมาใช้เป็นน้ำมันในการผลักดันและขับเคลื่อนชีวิตของเราให้ก้าวหน้าได้ แต่สิ่งที่เรียนรู้หลังจากนั้นในตอนสุดท้าย แรงผลักดันดังกล่าวต้องไม่เอาความแค้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและเป็นพลังลบให้กับชีวิต ให้มันผลักดันไปข้างหน้าอย่างสวยงาม โดยที่ไม่ต้องเอาความแค้นมาเป็นตัวเร่งเชื้อเพื่อให้ชีวิตเกิดการขับเคลื่อน เราว่ามันไม่จำเป็น

POSH: จากจุดแรกมาจนถึงจุดล่าสุด มีอะไรอยากจะบอกถึง “ครูโสภี/ครูวรวรรณ”

แพท: โห โสภีเธอมาไกลมากนะ ฉันภูมิใจในตัวเธอมาก หลังจากนี้ ขอให้เธอมีชีวิตแบบนี้แหละ มีเป้าหมายที่ชัดเจน ขยัน มั่นคง และพบกับความสุขที่เธอต้องการสักที

นักเรียนเต้ – โทนี่ อันโทนี่ บุยเซอเรท์

 เต้เป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูง ไม่ได้ต้องการยุ่งกับใครมาก นอกจากจะมีอะไรจำเป็นกับชีวิตจริงๆ เขาถึงจะสนใจ เพราะชีวิตของเต้โดนกดดันจากพ่อมาอีกทางหนึ่ง เพราะพ่อเป็นคนที่มีฐานร่ำรวย มีหน้ามีตา ทำให้เต้โดนกดดันตลอดเวลาว่า ต้องทำให้ดี ต้องเป็นที่หนึ่งของโรงเรียนให้ได้ เพื่อรักษาภาพเหล่านั้นไว้ การไปโรงเรียนสำหรับเขาเลยไม่ได้เอ็นจอยเหมือนที่ผมไปโรงเรียนในรูปแบบปกติ มันเลยทำให้ตัวละครเต้แอบเครียดนิดหนึ่ง ตรงที่เครียดไม่ค่อยอยากสุงสิงกับใคร แต่ก็ไม่ได้เครียดจนเกินไป เพราะเต้ก็มีเปิดใจคุยกับคนที่มีความอ่อนโยนให้บางครั้ง

“ตอนที่ผมแสดง ผมเลยคิดว่า ไม่ได้ยากและง่ายจนเกินไป เพราะผมมี ‘ฮูพ’ คอยรับส่งอารมณ์ให้อยู่ ซึ่งผมเข้าฉากกับฮูพเยอะหน่อย มันเลยสนุกมาก แต่ยอมรับว่า ตอนแรกเกร็ง เพราะเคยได้ยินเรื่องกฎกติกาบางอย่างมา แต่พอได้คุยกันจริงๆ ก็เป็นกันเองมาก และเก่งการแสดงมากกว่าที่ผมคิดไปเยอะเลย ผมเลยรู้สึกว่า การแสดงที่ดี ต้องมีพาร์ทเนอร์นอกจอที่ดี นั่นเลยทำให้ผมกับฮูพสนิทกันเร็วมาก เลยทำงานด้วยกันได้ง่าย

“ถ้ามีอะไรอยากจะบอกเต้ได้ อยากบอกว่า อย่าเก๊กมากเลย ชิลๆ บ้างก็ได้ ทำเพื่อตัวเองบ้าง ชีวิตจะได้มีความสุข และสิ่งที่ภูมิใจกับตัวเต้คือ เต้ยังมีหัวใจแคร์คนรอบข้างอยู่บ้าง ถึงจะไม่พูดไม่โชว์มันออกมา แต่ลึกๆ ก็ยังคอยแอบสังเกตและเอาใจใส่อยู่ไม่ห่าง ผมภูมิใจตรงนี้”

นักเรียนนิชา – ฮูพ ปาฏลี ประเสริฐธีระชัย

“นิชาเป็นเด็กเรียนดีคนหนึ่งเลย เรียนเก่งมากด้วย แต่ติดอยู่ตรงที่ฐานะที่บ้านค่อนข้างยากจน เธอเลยอยากจะเป็นหมอด้วย 2 เหตุผล เพื่อต้องการให้ครอบครัวสบาย และเพื่อรักษาคุณแม่จากอาการป่วย เลยต้องพยายามและมุ่งมั่นมากกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเรื่องการเรียนหรือต้องทำงานเพื่อมาจุนเจือค่าใช้จ่ายขณะเรียน ยอมรับว่า อ่านบทตอนแรกรู้สึกตื่นเต้นมาก ได้ทำอะไรใหม่ที่ไม่เคยลองทำ แต่ความตื่นเต้นมันก็ตามมาด้วยความกดดันลึกๆ เพราะต้องร้องไห้เยอะมาก

“จำได้ตอนที่อ่านบทครั้งแรกคือ ฉากอารมณ์เยอะมาก แล้วมันยากตรงที่เราต้องจินตนาการว่า คนข้างหน้าคือ แม่ของเราจริงๆ แล้วเขากำลังจะตาย แต่เราเป็นคนร้องไห้ไม่เก่งเอาซะเลย เลยต้องทำอารมณ์อยู่นานพอสมควรกว่าจะผ่านมันไปได้ ซึ่งโชคดีที่มีพี่ๆ นักแสดงคนอื่นๆ คอยช่วย แนะนำ และสอนเราในบางจุดด้วย ทำให้ฉากอารมณ์ของเราเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น

  “ถ้ามีอะไรอยากจะบอกนิชาได้ อยากบอกว่า แม่รักนิชาเหมือนที่นิชารักแม่ อย่ารู้สึกไม่ดีและโทษชีวิตของตัวเองเลย หากได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างเต็มกำลังและเต็มที่ที่สุดแล้ว เท่าที่ลูกคนหนึ่งจะทำได้ เธอเก่งมากนิชา เธอเก่งจริงๆ”

นักเรียนดิน – นิว ชยภัค ตันประยูร

“ดินเป็นคนเงียบๆ เลือกที่จะคุยกับคนที่สนิทจริงๆ เหมือนเขามีโลกส่วนตัวของเขา ซึ่งถ้าคนภายนอกมองเข้ามา ก็จะรู้สึกว่า ทำไมเขาหัวขบถหรือติสต์แตกอยู่คนเดียว แต่ถ้าได้รู้จักจริงๆ เขาเป็นคนมีพรสวรรค์ในด้านศิลปะสูงมาก แต่ไม่มีพรสวรรค์ในด้านการเรียน เลยทำให้ครูต้องทำความเข้าใจดินมากพอสมควร ซึ่งดินค่อนข้างตรงกับตัวผมประมาณหนึ่ง คือ มีโลกส่วนตัว เป็นเด็กหลังห้อง และไม่ได้ตั้งใจเรียนขนาดนั้น

“ผมเลยเข้าใจดินในบางมุม และทำการบ้านดินเพิ่มอีกหลายมุม เช่น ทางเลือก การตัดสินใจต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ท้าทายยิ่งกว่าการเข้าใจดินคือ การกลับไปแสดงเป็นนักเรียนอีกครั้ง เพราะตัวผมห่างหายจากการเป็นนักเรียนไป 3 ปีเห็นจะได้ เลยต้องย้อนกลับไปทำความรู้จักความเป็นนักเรียนใหม่ จริงๆ มันก็ไม่ได้ยากหรอก แต่มันมีบางรายละเอียดที่ลืมไปแล้ว เช่น การใส่ชุดนักเรียน การอยู่กับเพื่อน การไปโรงเรียนเช้า เพราะความรู้สึกข้างในของนักเรียนกับนักศึกษา ผมว่ามันแตกต่างกันค่อนข้างเยอะพอสมควร

“ถ้ามีอะไรอยากจะบอกดินได้ อยากบอกว่า ไม่ว่า 1 ปีที่ผ่านมาในอีกมัลติเวิร์สหนึ่งที่ดินอาจจะอยู่ในระบบ แต่ถ้ามัลติเวิร์สนี้ ดินได้เลือกแล้ว ก็ยินดีด้วยกับการที่ตัดสินใจได้ ไม่ว่ามัลติเวิร์สนี้มันจะดีหรือแย่กว่า สุดท้ายแล้ว ถ้าดินอยู่อย่างมีความสุข ผมว่าชีวิตทุกอย่างก็โอเคนะ และยินดีกับสิ่งที่เขาเลือกด้วย”


Photographer: Peerakran Numnoke @_pnphoto_

Stylist: @supavit.style @petentm

Stylist Assitant:  @jiraaaa29

Clothes: @sorapollondon @urbanrevivo.thailand @babet____
Shoes: @louboutinworld
Nail: @fahacantabile @oyster.nail

Makeup: @eddiethailand

Hair: Tanapon Sae-tang @pom_hairstylista

Creative Director : Termsit Siriphanich @termsit
Editor in Chief: Austin Thein

Interview: Yutthachai Sawangsamutchai @Youthtumz

#ThankYouTeacherxPOSH