Cover Interview – Mother Gamer Team

หนังแอคชั่น อีสปอร์ตที่กำลังจะเข้าฉายวันที่ 10 กันยายนนี้คือ “Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่” ซึ่งวันนี้ POSH จะพาแฟนๆ มาทำความรู้จักกับสามนักแสดงนำจากเรื่องนี้

“ตน-ต้นหน ตันติเวชกุล” “เติร์ด-ลภัส งามเชวง” และ “วี-วีรยา จาง”

1

เริ่มต้นกันที่ “ตน-ต้นหน ตันติเวชกุล” ท้าทายบทบาทที่ยากยิ่งกว่า อีโมชั่นแรง เกมเมอร์เดือดใน “Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่”

บทบาท-คาแร็กเตอร์

สำหรับ โอม คาแร็กเตอร์ของเขาคือเด็กคนหนึ่งที่อยากขีดเส้นทางชีวิตด้วยตัวเอง แม้ว่าที่ผ่านมาโอมจะอยู่ในโอวาทของแม่มาตลอด พอเขามาค้นพบเกม RoV ที่เขาอยากจะเล่นมันเป็นอาชีพ และกลายเป็นความฝันจริงๆ ซึ่งจุดนี้มันทำให้รู้ว่าสิ่งที่โอมชอบที่สุดกลับไม่ใช่การเรียน แต่คือการเล่นเกม และเขาก็อยากที่จะตั้งใจทำมันให้สำเร็จ ผมคิดว่าเนี่ยแหละ โอมเขากำลังทำในสิ่งที่แม่ทำไม่ได้ มันเลยเกิดเป็น Conflict ระหว่างเขากับแม่ขึ้นมา โดยในเรื่องนั้น โอมเป็นผู้เล่นดาวรุ่งที่ทุกคนจับตามองในทีม “Higher” ที่เขาต้องแบกทั้งทีมด้วยความเชื่อมั่นในฝีมืออันเก่งกาจของตัวเอง มันเลยทำให้โอมกลายเป็นคนที่ชอบกดดันตัวเอง และเก็บกดอยู่ตลอดเวลาพอสมควร

เรื่องราวของ “Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่”

เหตุการณ์ทั้งหมดที่มันเกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ก็มาจากโอมกับแม่ครับ เพราะโอมได้ค้นพบสิ่งที่เป็นความฝันของเขา แต่สิ่งนี้มันดันกลายเป็นความขัดแย้ง เพราะว่าแม่ไม่เข้าใจโอม ซึ่งคุณแม่หรือ “ครูเบญจมาศ” (อ้อม พิยดา) เป็นคนคิดโครงการปลอดมือถือของโรงเรียน ฉะนั้นถ้าโรงเรียนเป็นแบบนี้แล้ว ที่บ้านก็แทบไม่

ต้องพูดเลย (หัวเราะ) แล้วเผอิญว่าโอมชอบเล่นเกมขึ้นมาก็เลยเกิดเป็นประเด็นตรงนี้ขึ้นมา โอมก็รู้สึกว่าตัวเองทนมาพอแล้วกับการทำตามในสิ่งที่แม่ขีดเส้นไว้ เขาจึงตัดสินใจไม่คุยกับแม่ เพราะเขาอยากทำในสิ่งที่เขาต้องการให้เป็นอาชีพจริงๆ ได้ และมีความที่อยากจะพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้แม่เห็น จริงๆ เขาก็ยังเป็นเด็กคนหนึ่งที่รักแม่มาก และมีวิธีในการแสดงออกที่อยากให้แม่เข้าใจ จนสุดท้ายแม่ดันไปตั้งทีมที่รวมเหล่าสมาชิกเกรียนๆ มาแข่งกับโอม มันเลยเหมือนว่าแม่ไม่สามารถเอาชนะโอมได้ในชีวิตจริง แต่พยายามมาเอาชนะในเกม โดยในเรื่องนั้นโอมอยู่ทีม “Higher” ที่เป็นทีมที่เก่งที่สุดในวงการอีสปอร์ตและมีชื่อเสียงมานานมากครับ ตัวโอมก็เป็นผู้เล่นดาวรุ่งที่ทุกคนจับตามอง และเป็นเขาที่พร้อมจะแบกทีมประมาณหนึ่งด้วยความเชื่อมั่นในฝีมืออันเก่งกาจของตัวเองด้วย

การหวนคืนสู่ภาพยนตร์อีกครั้งในรอบ 9 ปี

ภาพยนตร์เป็นงานที่ผมรักมากครับ เพราะผมก็เติบโตมากับการดูหนัง มันเลยทำให้ผมเป็นคนที่อินด้านภาพยนตร์มากที่สุดในงานแสดงทั้งหมด ผมชอบกระบวนการของการทำงานไม่ว่าจะเป็นวิธีการถ่ายทำ วิธีการโพสต์โปรดักชั่น และวิธีการที่สร้างตัวละคร แล้วยิ่งพอรู้ว่านี่เป็นหนังของทางสหมงคลฟิล์มฯ ด้วย คือเราชอบ “โหมโรง” มากๆ เป็นหนังในดวงใจของผมตั้งแต่เด็กเลย เพราะเรารู้สึกเลยว่ามันเป็นงานปั้นจริงๆ ซึ่งพอได้มีโอกาสมาร่วมงานใน “Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่” ก็ทำให้ค้นพบว่าทุกซีนทุกฉากของทุกวันที่ถ่ายไปคืองานปั้นแบบสุดๆ ถ่ายตอนบ่ายวันนี้ และเลิกตอนเช้าในอีกวัน เป็นอยู่อย่างนี้เกือบทุกคิวเลยครับ แต่การเลิกเช้ามาแล้วก็รู้สึกดีใจและก็ภูมิใจกับงานที่มันกำลังจะออกมาครับ และเราก็เชื่อมั่นในทีมงานทุกๆ คน รวมถึงพวกเขาที่เชื่อในตัวผมด้วย รู้สึกดีใจมากจริงๆ อยากขอบคุณทุกคนที่ให้ผมมาเล่นครับ 

6

การเตรียมตัวเพื่อแสดงเรื่องนี้

พาร์ตของผมจะเป็นอีโมชั่นมากที่สุดในเรื่องนี้เลย มันก็จะยากมากๆ เพราะผมไม่ใช่คนที่สามารถร้องไห้ได้ทันที และต้องใช้อินเนอร์พอสมควร รวมถึงต้องไปจูนกับคนอื่นๆ ด้วย ขณะเดียวกันผมมักจะมีการดีไซน์ไว้ในหัวก่อนแล้วว่า โอมต้องเครียด ต้องหน่วง ฉะนั้นซีนดราม่าอาจไม่ยากนัก แต่ความยากคือความไม่นิ่งของตัวละครตัวนี้ บางอย่างเราทำมาแน่นแล้ว พอเหมือนกับว่าถูกหยิบบางอย่างออกนิดเดียวเท่านั้น แต่ก็ทำให้เรา Blank ได้เหมือนกัน

การร่วมงานกับสุดยอดทีมงาน

มันคืองานที่ผ่านการคิดมาอย่างละเอียดจริงๆ ครับ ทุกซีนทุกฉากของหนังเรื่องนี้คือสุดยอดงานปั้นที่วางแผนมาเป็นอย่างดีเลย เราเชื่อมั่นในตัวผู้กำกับ “พี่เสือ ยรรยง” รวมถึงเชื่อมั่นในตัว “พี่เอ็ม สุรศักดิ์” ผู้ช่วยผู้กำกับ เชื่อมั่นในตัว “พี่แอ้น ภาเกล้า” ตากล้อง “ครูเอ นัฐพงศ์” แอคติ้งโค้ชที่เป็นทุกอย่างให้แล้วจริงๆ ในกองนะครับ คือทุกคนก็เชื่อมั่นในตัวเรา เราก็ต้องเชื่อมั่นในตัวทุกคนว่าสิ่งที่เราทำออกมาแล้วเขาบอกว่าโอเค เราก็โอเคจริงๆ ก็อยากรอดูครับว่าจะเป็นยังไง

ลูกชายกับแม่ “อ้อม พิยดา”

ผมรู้สึกว่า “พี่อ้อม” เขาเหมือนพี่สาวผมมากเลยครับ เพราะเราสามารถพูดกับเขาได้ในหลายๆ เรื่อง แต่พอเข้าซีนแล้วนั้น ผมเป็นโอมก็จะมองว่านี่แหละคือแม่ของเรา ซึ่งข้อดีคือเราทำการบ้านมา และพี่อ้อมก็แสดงในแบบที่เราจินตนาการไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมุมความรักและต่อต้านในเวลาเดียวกัน แล้วในหนังก็จะมีฉากที่ผมกับพี่อ้อมต้องแสดงซีนแอคชั่นด้วยกัน พี่อ้อมยังแข็งแรงกว่าผมอีกนะ (หัวเราะ) เขาทำได้หมดและไม่ห่วงสวยเลย เขาคือนักแสดงที่ดีมากครับสำหรับผม

แอคชั่นกับ “เติร์ด ลภัส”

ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งที่ผมเพิ่งรู้ตอนถ่ายคือ ซีนแอ็คชั่น ซึ่งเอาจริงๆ พี่เสือน่าจะบอกไว้ก่อนนะครับว่าแคสต์นี้ต้องการคนที่เล่นแอคชั่นได้ ล้อเล่นๆ (หัวเราะ) คือผมอ่ะไม่เคยเล่นแอคชั่นมาก่อนเลย เนื่องจากร่างกายของผมด้วย และผมก็ไม่ใช่คนที่เล่นกีฬาต่อเนื่อง แม้ว่าช่วงมัธยมผมจะเคยเป็นนักกีฬามาก่อนนะครับ ก็คือเล่นฮอกกี้ แต่พอจบมัธยมไปก็ไม่ได้แตะกีฬาอีกเลยครับ และพองานนี้เราต้องมาแอคชั่นร่วมกันกับ “เติร์ด” ก็รู้สึกว่าเขาเป็นคนที่เก่ง ยิ่งพอเราได้เจอกันแค่ซีนเดียวคือ ซีนดวล 1 ต่อ 1 ที่เป็นฉากสำคัญของเรื่อง เพราะมันคือการเผชิญหน้าระหว่าง 2 ตัวท็อปต่างรุ่นที่ต้องมาไฟต์กันครับ ก็ยิ่งทำให้เห็นเลยว่าเติร์ดเขาเก่งมากจริงๆ ทั้งเดือดมาก ปล่อยหมัดใส่กันเยอะๆ ซึ่งเติร์ดก็ช่วยผมไว้มากทีเดียว 

แม้ว่าก่อนถ่ายผมจะไปเวิร์กช็อปชกมวยหลังจากได้เห็นคลิปเติร์ดต่อยมวยที่พี่เสือส่งมาให้ดู งานนี้ผมต้องไม่ยอมแล้วครับ (หัวเราะ) ขอเข้ายิมบ้างเพื่อเตรียมร่างกายให้แข็งแรงพร้อมที่สุด เนื่องจากมันเป็นซีนที่ต้องใช้ร่างกายเป็นหลัก ทั้งกระโดด ต่อยเตะ และโชว์ท่าแอคชั่นสวยๆ โดยพี่เขาเองก็เป็นนักเต้นอาชีพ ฉะนั้นจึงมีความแข็งแรงอยู่พอสมควร มันเลยเหมือนเขาต้องช่วยผมในการรับรีแอคเสียมากกว่า เพราะมันเป็นฉากแอคชั่นที่จะเวอร์ๆ หน่อย เริ่มถ่ายทำตั้งแต่ 6 โมงเย็น ถัดจากที่ซ้อมกันตั้งแต่บ่าย 3 แล้วก็เข้าฉากสลับกับการ

ซักซ้อมในบางช่วงจนถึง 6 โมงเช้าไปเลย ซึ่งทุกอย่างก็จะดูยิ่งใหญ่ ดูทรงพลัง ดูเป็นเกมมากๆ แล้วเท่าที่ผมจำได้รู้สึกว่ามัน ‘ว้าว’ แบบที่เราไม่เคยเห็นในหนังไทยเรื่องไหนๆ มาก่อนเลยครับ บอกได้เลยว่าเดือดแน่นอน

การร่วมแสดงกับโปรเพลเยอร์อีสปอร์ตตัวจริงระดับประเทศ

ผมอยู่ในทีม “Higher” ก็จะมี “พี่กิตงาย, หมอทอม, ลีโอ และ พี่ไม้” ซึ่งทุกคนเก่งมากเลยครับ แม้ตัวผมเองจะชอบเล่นเกมอยู่แล้ว และมีอยู่ช่วงหนึ่งที่คลั่งวงการอีสปอร์ตอยู่เหมือนกัน เคยตื่นตี 5 มาดูถ่ายทอดสดการแข่งขัน และเห็นเลยว่านักแข่งทุกคนเขามีความจริงจังในสิ่งที่ทำมากๆ ผมนับถือพวกเขาเลย และพอมาวันนี้ได้เจอกับโปรเพลเยอร์ตัวจริงที่มาร่วมฉากแสดงด้วยกัน และต้องเล่นเกมด้วยกัน แต่ความยากคือเราเล่นเป็นทีมทั้ง 5 คนก็ต้องจินตนาการให้เหมือนกันทุกคน ซึ่งพี่ๆ เขาช่วยผมเยอะมาก ทั้งทีมงานและผู้กำกับเพื่อให้ฉากที่ทุกคนปั้นขึ้นมาสำเร็จด้วยดีครับ

ความฮอตของกีฬาอีสปอร์ต

ผมอยากให้มองว่าอีสปอร์ตเป็นกีฬาชนิดหนึ่งไปเลย เหมือนหมากรุกที่เป็นเกมกระดานก็ยังถูกจัดให้เป็นกีฬาได้เช่นกัน ถ้าผมบอกคนอื่นทุกคนว่าต้องตื่นนอนมาดูฟุตบอลก็จะปกติ แต่ถ้าบอกว่าตื่นขึ้นมาดูเกมก็อาจจะถูกมองว่าไม่ปกติ ซึ่งผมอยากให้ทุกคนมองอีสปอร์ตเหมือนมองกีฬาฟุตบอลที่ก็ใช้ความสามารถในการเล่นเหมือนกัน และไม่ใช่ทุกคนที่จะไปถึงจุดนั้นได้เหมือนกับวงการอื่นๆ มันต้องมีคนที่ล้มเหลว คนผิดพลาด และมีคนที่มีความหลงใหลกับมัน ซึ่งคนเหล่านั้นน่ายกย่องนะครับ

เมื่อพอมีหนังที่เราใส่ความเป็นอีสปอร์ตเข้าไปทั้งเรื่อง ในฐานะคนที่ชอบอีสปอร์ตมาก่อนก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจมาก หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่ได้สนใจก็ตาม ผมจึงอยากให้หนังเรื่องนี้เป็นกระบอกเสียงถึงคนรุ่นผมและทุกๆ คนเล่นเกมที่เติบโตมากับเทคโนโลยี เพราะพวกเขาทุกคนจะเข้าใจในวงการนี้เป็นอย่างดี และพัฒนาต่อยอดมันไปได้ แต่ทางคนที่ยังไม่รู้ก็อยากให้ลองเปิดใจมาชมภาพยนตร์เรื่องนี้ครับ

ภายใต้ความสนุกของ “Mother Gamer” ก็ยังมีประเด็นเรื่องช่องว่างระหว่างวัย

จริงๆ หนังเรื่องนี้มันพูดถึงความแตกต่างของช่วงวัย อย่างนักแสดงที่เห็นก็จะเป็นการต่อสู้ของผมกับ “พี่อ้อม”  ที่เป็นแม่ โอมกับเบญจมาศซึ่งเป็นคนสองรุ่นที่แตกต่างกัน อย่างที่หลายคนชอบพูดคือแม่ไม่เข้าใจเราหรอกว่าวัยรุ่นมันเหนื่อย แต่อย่าลืมว่าผู้ใหญ่ก็เคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน มันก็ไม่ได้แปลกถ้าเขาจะอยากให้เราไปในทางที่ดีตามที่เขาขีดไว้ เพราะว่าพวกเขาก็เคยเดินทางนี้มาก่อน ฉะนั้นก็ย่อมจะรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่

สุดท้ายแล้วผมคิดว่ามันคือการฟังกัน ยอมรับ และเข้าใจกันมากกว่า แต่เด็กก็มีสิทธิ์เลือกในการลองผิดลองถูกนะ ไม่ใช่ว่าต้องทำตามสิ่งที่เขาบอกอย่างเดียว มันเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่าวัยรุ่นสมัยนี้สามารถคิดเองได้ 

ส่วนตัวผมเป็นคนที่เชื่อว่าก่อนที่เราจะออกนอกกรอบได้นั้น เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่ในกรอบให้ได้ก่อน พอเราจะทำอะไรที่มันนอกกรอบ การที่เราจะเป็นตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นเราควรจะต้องเรียนรู้และทำตามสิ่งที่มันเกิดขึ้น สิ่งที่มันเป็นกฎระเบียบ ผมสังเกตทุกคนพยายามจะบอกว่าการเป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเรา อยากประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว อยากเดินทางออกไปพบสิ่งใหม่ๆ สำหรับผมจึงมองว่าการทำตามกรอบมันไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่เหมือนเป็นการได้เรียนรู้ ถ้าเราไม่ชอบ ก็ได้รู้ว่าเราไม่ชอบ แล้วเราจะได้ไม่ต้องไปเดินทางนั้นด้วยตัวของเราเองในอนาคต

ความน่าสนใจโดยรวมของภาพยนตร์เรื่องนี้

ตอนที่ผมได้อ่านบทและไปแคสต์ ผมเองก็ไม่คิดว่าหนังมันจะแปลกขนาดนี้นะ แต่ก็แปลกในด้านดีนะครับ มันรวมส่วนผสมหลายๆ อย่างที่ไม่น่าจะมาอยู่ด้วยกันได้ และมีความลงตัวด้วย เพราะในเมืองไทยเท่าที่ผมรู้ก็ไม่ค่อยมีหนังประเภทนี้มากนัก คือเป็นหนังเกี่ยวกับเกมที่มีครบทุกอารมณ์ และเราก็ได้ทีมงานที่มีคุณภาพทั้งนั้นเลย ผมเองก็ดีใจมากๆ ที่ได้ร่วมงานกับพวกเขาเหล่านี้ครับ ถ้าให้แบ่งประเภทของหนังเรื่องนี้คือยากมากนะครับ มันมีทั้งพาร์ตดราม่าแม่-ลูก, แอคชั่นของวัยรุ่น, มิตรภาพ, ทีม หรือเกม มันผสมกันอยู่ในหนังทั้งหมด และเป็นหนังสำหรับเจน Z ที่คนทุกเจนสามารถไปดูได้เลย รวมถึงกระบอกเสียงของหลายๆ เสียงที่เขาพยายามพูดกันอยู่ว่า เกมไม่ใช่สิ่งที่ผิดร้อยเปอร์เซ็นต์นะ แต่มันเป็นสิ่งที่ดีถ้าแบ่งเวลาได้  และอีสปอร์ตก็เป็นกีฬาอย่างหนึ่งที่ดีนะ ก็อยากให้ทุกคนไปดู “Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่” 10 กันยายนนี้ครับ

4

ส่วน  “เติร์ด-ลภัส งามเชวง” ครั้งแรกบนจอภาพยนตร์ แอคชั่นทรงพลัง บทบาทที่ต้องลุ้น

บทบาท-คาแร็กเตอร์

กอบศักดิ์ คือตัวละครที่มีทั้งความบู๊ มีความรักอิสระ และแน่นอนว่าเขาเป็นคนที่มีความเก่งกาจเฉพาะด้านนั่นก็คือการเล่นเกม ซึ่งมันมีเสน่ห์มากกว่าคนที่เก่งไปเสียทุกอย่าง ขณะเดียวกันตัวเขาเองก็เป็นคนที่มีปมชีวิตอยู่เยอะมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เคยเป็นสมาชิกทีม “Higher” เรื่องความรักกับมะปราง และก็เรื่องการเรียนที่ยากจะคาดเดาอนาคต จนกระทั่งมีคนหนึ่งที่ให้โอกาสเขาก็คือ ครูเบญจมาศ(อ้อม พิยดา) ซึ่งกอบศักดิ์เองก็เหมือนเป็นตัวแทนของเด็กเกเรที่อยากต้องการได้รับการยอมรับ จากการที่สมัยก่อนเขาเองก็ไม่ใช่เด็กเกเร เขาเพียงดันไปเจอกับช่วงหนึ่งที่มันพลิกผันในชีวิตและทำให้ทุกอย่างมันพังไปหมด แต่ถึงอย่างไรแล้วเนื้อแท้ของเขาก็เป็นคนดีครับ

เรื่องราวของ “Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่”

มันเป็นเรื่องของการเปิดใจกัน และยังแฝงเรื่องโอกาสที่ 2 ลงไปด้วย ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจากครูเบญจมาศ เพราะเขาเหมือนเป็นมือที่มาฉุดกอบศักดิ์ขึ้นจากทะเลที่กำลังจะจมน้ำตาย ณ ตอนนั้นคือกอบศักดิ์ไม่เหลืออะไรแล้ว อยู่ดีๆ ครูเบญก็ยื่นโอกาสเข้ามาแม้ว่าตอนนั้นเขาก็ไม่ไว้ใจสักเท่าไหร่ แต่ก็ขอลองดูหน่อยละกัน ซึ่งเราก็จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงระหว่างความสัมพันธ์ของกอบศักดิ์กับครูเบญขึ้นเรื่อยๆ 

ผมมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างครูเบญจมาศเป็นอะไรที่อธิบายยากเหมือนกัน เป็นทั้งครู-ลูกศิษย์, แม่-ลูก และเป็นคนต่างวัยที่เล่นเกมด้วยกัน เราจะไม่ค่อยได้เห็นอะไรแบบนี้ในสังคมสมัยนี้เท่าไร เพราะส่วนใหญ่เวลาเด็กเล่นเกมผู้ใหญ่ก็จะห้ามไม่ให้เล่น แต่อันนี้คือผู้ใหญ่ลงมาเล่นเอง ซึ่งมันเป็นอะไรที่ขัดแย้งอยู่พอสมควร และในหนังเรื่องนี้ครูเบญจมาศก็เป็นคนที่คิดค้นกฎห้องเรียนปลอดมือถือ แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่งก็จะมาสร้างทีมอีสปอร์ตขึ้นมาและชวนกอบศักดิ์มาเล่นเกมอีก แต่ตัวเองกลับเล่นเกมไม่เป็น เราก็ต้องเป็นคนสอนครูเบญว่าต้องเล่นยังไงจนต่อมาเขาก็เก่งขึ้นเรื่อยๆ ผมเลยมองว่ามันเป็นอะไรที่ขัดแย้งพอสมควร และถ้ามองอีกมุมคือมันก็น่ารักดี

การเตรียมตัวเพื่อแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก

มันเป็นอีกโลกหนึ่งเลยครับ พอเราเคยแสดงซีรีส์มาก่อนและมาสู่ภาพยนตร์ คือแอคติ้งที่เรามีบางอย่างก็เอามาใช้ได้ แต่บางอย่างก็ต้องเรียนรู้ใหม่หมด แล้วด้วยความที่เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกเราก็เลยกดดันตัวเองพอสมควร และการได้มาร่วมงานกับนักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง “พี่อ้อม พิยดา” เราจึงอยากทำออกมาให้ดีที่สุด ฉะนั้นจึงต้องกลับไปอ่านบททำความเข้าใจในตัวละครค่อนข้างหนักเลย

พอเราไปเวิร์กช็อป ผมก็พยายามดึงความทรงจำสมัยก่อนกลับมาอีกครั้ง มันจะมีให้ทำการบ้านในส่วนภูมิหลังของตัวละคร เราก็เลยหาจุดที่เราเหมือนกับจุดที่ไม่เหมือนตัวละครกอบศักดิ์ แล้วมันน่าตกใจตรงที่ผมกับกอบศักดิ์มีจุดที่เหมือนกันเยอะมากๆ เพราะตอนแรกที่เห็นบทก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเหมือนเราขนาดนั้น มันทำให้นึกย้อนไปถึงตอนอยู่ช่วงมัธยมต้นที่ผมติดเกม และก็มีเรื่องกับอาจารย์ฝ่ายปกครองเหมือนกัน ซึ่งเราก็เอาตัวละครนี้มาลิงก์กับตัวเราสมัยยังเด็กครับ

จับมือเกมแม่ “อ้อม พิยดา”

การทำงานกับ “พี่อ้อม” เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมเรียนรู้ครับว่า ไม่ว่าเราจะทำงานมานานขนาดไหน แต่ว่าทุกๆ วันเรายังสามารถเรียนรู้ได้เสมอ เราจะเห็นพี่อ้อมในวงการมานานมาก วันแรกที่เราเข้ามาเวิร์กช็อปคือพี่อ้อมเขาพยายามหนักกว่าเราอีกนะ มันก็เลยเป็นแรงผลักดันให้เราด้วยที่จะต้องทำสิ่งนี้ให้ดีเหมือนกัน ต้องพยายามให้หนักกว่านี้ ก็เป็นพลังบวกจากพี่อ้อมครับ วันแรกที่ผมเจอคือรู้สึกกลัวนะ แต่พี่อ้อมมักจะทำให้คนรอบตัวรู้สึกสบายไม่ว่าจะเป็นน้องๆ หรือพี่ๆ ที่ร่วมฉากด้วยกัน มันจึงทำให้ทุกอย่างกลายเป็นความสนุกไปเลย

5

จับมือเกมเมอร์สาวห้าว “วี วีรยา” 

ตอนแรกผมกดดันนะ เพราะเรายังไม่เคยมีประสบการณ์ที่ต้องทำงานกับคนอื่นที่ไม่ใช่เพื่อนในวงมากเท่าไหร่นัก คือตอนนั้นที่เริ่มโปรเจกต์ “9×9” มาเราก็ทำงานร่วมกับผู้ชายทั้ง 8 คนมาตลอด มันจึงเป็นความกดดันที่ต้องมาร่วมงานกับคนอื่นด้วย ก็ใช้เวลาปรับจูนกันอยู่ แต่น้องวีเขาจะมีความเป็นผู้หญิงห้าวๆ ในตัวเอง เลยทำให้เข้ากันได้ง่ายขึ้น เพราะต่างคนก็ต่างกวนกันไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งก็เลยเริ่มสนิทกัน คือในหนังกวนยังไง นอกจอก็กวนอย่างนั้นเลยครับ เผลอๆ อาจกวนหนักกว่าด้วย (หัวเราะ) ก็มองว่าเป็นสิ่งที่ดีและทำให้ทุกอย่างมันง่ายขึ้น เวลาเข้าซีนด้วยกันก็จะมีความเกร็งน้อยลงครับ

“กอบศักดิ์ – มะปราง” ความสัมพันธ์รักที่ต้องลุ้นใน “Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่”

ตอนไปเวิร์คช็อปคนเขียนบทเขาวงเป็น Objective ให้เห็นเป้าหมายของตัวละครคืออะไร และก็ Super Objective คือเป้าหมายสูงสุดของตัวละคร ซึ่งถ้ามีความเปลี่ยนแปลงตรงนี้มันจะส่งผลต่อตัวละครทั้งหมด โดยผมวงเป็น “มะปราง”(วี วรียา) ครับ เพราะเธอคือตัวละครที่มีผลต่อทุกแอคชั่นของกอบศักดิ์เลยก็ว่าได้ ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับมะปรางมันก็จะส่งผลต่อตัวกอบศักดิ์ด้วยเช่นกัน มันเป็น 2 ตัวละครที่เชื่อมถึงกันอยู่ พวกเขาเป็นเพื่อนกันแต่เด็ก และมะปรางเองก็จะเข้าใจกอบศักดิ์ที่สุดในทุกๆ อารมณ์เลย รวมถึงยังเป็นอีกเหตุผลหนึ่งด้วยที่ทำให้กอบศักดิ์อยากกลับมาเล่นเกม เพราะตอนแรกเขาจะไม่เอาแล้วกับด้านนี้ แล้วพอครูเบญมาชวนฟอร์มทีม เขาก็นึกถึงมะปรางที่เคยอยู่ทีมเดียวกันมาเป็นคนแรกเลย แต่เขาทั้ง 2 จะเหมือนคู่ที่คอยแกล้งกันประจำ และจะเป็นความรู้สึกที่ไม่ถูกกล่าวถึง แต่ผมคิดว่ากอบศักดิ์เขาแอบตกหลุมรักเธอมะปรางแน่นอน

ซึ่งมะปรางสำหรับกอบศักดิ์ คือเป็นคนที่แตกต่างจากตัวเองพอสมควร เพราะกอบศักดิ์เป็นคนที่ไม่ค่อยมีโอกาสเท่าไร ขณะที่มะปรางเป็นคนที่เพียบพร้อมทุกอย่างทั้งฐานะและการซัพพอร์ตจากครอบครัว ส่วนตัวกอบศักดิ์จะมีเพียงความฝันอย่างเดียวเท่านั้น คืออยากเป็นโปรเพลเยอร์ แต่มันดีตรงที่มะปรางเป็นคนเดียวที่สามารถยอมรับทุกอย่างที่กอบศักดิ์เป็นได้ ทั้งด้านดีและไม่ดีครับ

จับมือสุดยอดทีมงานขั้นเทพ

ทีมนี้บ้าพลังครับ (หัวเราะ) กว่าจะปั้นฉากๆ หนึ่งออกมาได้ คือต้องผ่านอะไรมาเยอะมาก มุมกล้องก็เยอะมากด้วย อย่างฉากแอคชั่นนี่มีการเก็บทุกมุมเลยครับ แล้วถ้ามุมไหนไม่สุดก็คือถ่ายไปเรื่อยๆ จนเราเจ็บกันไปเลย ซึ่งทุกคนก็สู้กันสุดมากๆ ครับในเรื่องนี้ ถ้าใครได้เห็นมุมภาพ มันจะมีมุมที่ถ่ายจากด้านบน คือผมยัง

ไม่เคยเห็นภาพยนตร์ไทยเรื่องไหนทำมาก่อน และการทำงานกับ “พี่เสือ ยรรยง” คือ เขาเป็นผู้กำกับใจดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมาเลย ค่อนข้างสบายๆ แต่ในความสบายคือเขาเป็นคนที่ละเอียดมากๆ เช่นกัน ส่วน “พี่เอ็ม สุรศักดิ์” ผู้ช่วยผู้กำกับคือเขาจะมีความบ้าพลังและโหดมากๆ (หัวเราะ) เขาเคยถามว่าสามารถกระโดดลงจากตึก 2 ชั้นได้ไหม ผมก็บอกว่าไม่ได้ครับ (หัวเราะ) แต่ก็สนุกครับ ทางด้าน “พี่แอ้น ภาเกล้า” เขาก็เป็นตากล้องที่สู้มากๆ และเขาปั้นได้เก่งมาก เขาสามารถดึงทุกอย่างออกมาให้ได้ดีที่สุด หรือบางซีนก็ดอลลีแบบไป-กลับเป็น 10 รอบ จนผมเองก็จำไม่ได้ว่านี่เทกที่เท่าไหร่แล้วนะ แต่ทุกคนก็สุดมากครับ

รับมือกับฉากแอคชั่นมากมาย เล่นจริง เจ็บจริง

ตอนอ่านบทคือผมไม่รู้เลยว่าต้องแอคชั่นขนาดนี้ เราคิดว่าต้องเป็นเด็กเล่นเกมและอีสปอร์ต แต่ยังไม่รู้ว่าต้องมาสวมบทเป็นตัวละครในเกมด้วย พอมาจริงคือมีทั้งต่อยมวย วิ่งฟรีรันนิ่ง และกระโดดหลบไปมา เรียกได้ว่าหนักมากๆ กลับบ้านไปคือระบมเลยทีเดียว แต่มันก็คุ้มค่าครับ เพราะถ้าผมไม่ได้มาทำสิ่งเหล่านี้ในหนัง “Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่” ผมเองก็ไม่น่าจะมีโอกาสได้ทำอะไรแบบนั้นอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นซีนที่ต้องฝ่าดงกระบี่กระบอง ซึ่งเราจะมีครูที่เขาสอนตัวจริงมาสอนเทคนิคในการหลบว่าควรจะหลบอย่างไร และก็จะมีแอคติ้งโค้ชของเราที่มีพรสวรรค์รอบด้านมากๆ เขาจะสอนว่าตรงนี้ต้องกลิ้ง ต้องย่อ และถ้าย่อช้าก็อาจจะหัวแตกได้ เราจึงต้องฝึกซ้อมคิวหลบและคิวบู๊กันประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนถ่ายทำ ซึ่งตอนถ่ายทำซีนนี้เราเองก็ยังคิดไม่ออกว่าจะถ่ายยังไง “พี่เสือ” ผู้กำกับเลยบอกให้ผมลองเต้นดูสักบีตหนึ่ง และเราก็เต้นไปซึ่งปรากฏว่าเขาโอเคเลย และเอาท่าเต้นอันนั้นมาใช้เป็นวิธีการหลบกระบองที่กำลังฟาดใส่หัวเรา มันเป็นสิ่งที่อยู่ดีๆ ก็ผุดขึ้นมาและตัวผมเองก็ชอบมากด้วย 

แต่มันจะมีอยู่ช็อตหนึ่งที่ผมต้องกระโดดข้ามหลังน้องคนหนึ่ง ยิ่งเจอพื้นปูน และเราใส่รองเท้านักเรียนด้วย มันก็จะมีความลื่นอยู่พอสมควร แล้วตอนถ่ายจริงก็กระโดดปุ๊บลื่นปั๊บ เขาเลือดไหลเลยครับ แต่ก็ยังถ่ายได้นะ แม้ว่ามันจะเป็นหนังเรื่องแรกในชีวิตของผม แต่ก็มีฉากบู๊แอคชั่นที่หนักมากๆ ขนาดผมเองยังตกใจเลย และเป็นหนังเรื่องแรกที่ผมได้แผลด้วย จากประสบการณ์ผมตั้งแต่เกิดมาคือมีแผลที่นับครั้งได้เลย ซึ่งล่าสุดผมก็มาได้แผลในหนังเรื่องนี้ครับ เรียกว่าทุ่มสุดตัวจริงๆ

ปะทะ “ตน ต้นหน”

ในซีนนี้เราต้องไฟต์กัน เพราะผมต้องการที่จะมาทวงแชมป์ของตัวเองคืนในฐานะตัวท็อปรุ่นบุกเบิก และเขาเป็นรุ่นใหม่ที่จะมาแทนผม แต่งานนี้มันจะไม่ใช่แอคชั่นที่สู้กันธรรมดาๆ ทั่วไป เราอยากให้มันดูตื่นเต้น

ที่สุดก็เลยขอโดดลงไปสู้ในเกมกันครับ ซึ่งจะมีความเป็นแฟนตาซีขึ้นมาเยอะพอสมควร และตั้งท่าปล่อยพลังใส่กันไม่หยุด กลิ้งไปกลิ้งมาตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ตกดิน จนพระอาทิตย์จะขึ้น ซึ่งแม้ว่าต้นหนเขาจะไม่ค่อยถนัดการใช้ร่างกายมากนัก แต่ไหวพริบและความอึดของเขาก็มีอยู่มากเลยละครับ ทำให้ภาพรวมมันจึงออกมาสนุกตอนเราถ่ายทำกัน ถึงจะเหนื่อยมากๆ ก็ตาม แต่เพื่อความ ‘ว้าว’ ของแฟนๆ ผม 2 คนจึงตั้งใจทำเต็มที่ครับ

อารีนาอีสปอร์ตสุดเดือด

การถ่ายทำฉากนี้เป็นงานที่หนักอันดับต้นๆ ของเรื่องเลยครับ และเราก็เลิกกองตี 3 ติดกัน 3 วันเลย โลเคชั่นก็ถูกสร้างขึ้นมาหมดเลยซึ่งอะเมซิ่งมากๆ ครับ ถ้าไม่ได้เห็นอารีนา สถานที่ตรงนั้นก็คือหลุมเปล่าๆ ที่เราเอาทุกอย่างไปเซตจนเป็นอารีนาที่ใช้ได้จริง และเดือดมากครับซีนนั้น ถ้าถ่ายไม่เสร็จเราก็ไม่ได้กลับบ้าน (หัวเราะ) ผลคือเราถ่ายกันถึงเกือบตี 4 แต่นี่ก็เป็นซีนไฮไลต์ของเรื่องเลยก็ว่าได้

การเล่นเกมในหนัง “Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่”

อันนี้เป็นโจทย์ที่ยากไม่น้อยเลยครับ เพราะเราต้องจินตนาการว่าเราเล่นเกมอยู่ และมันก็ไม่ใช่แค่ตัวเราคนเดียวนะ มันคือลูกทีมเราอีก 4 คนที่จะต้องจินตนาการภาพให้ตรงกันว่า ตอนนี้ทีมกำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งมันยากมากนะครับเพราะเราต้องเล่นให้ได้เหมือนอยู่ในทีมเดียวกัน ต่างคนก็ต่างหน้าที่กัน แต่ต้องเล่นให้อยู่ในเวลาเดียวกัน เราจึงต้องเวิร์กออนกันพอสมควรเลยกว่าจะจูนกันได้

ความฮอตฮิตของกีฬาอีสปอร์ตที่กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

จริงๆ ผมคิดว่าอีสปอร์ตก็เป็นกีฬานะครับ แต่แค่มันเพิ่งถูกยอมรับในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากยุคแรกๆ ที่ผมเริ่มเล่นเกม ตอนนั้นอีสปอร์ตยังเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่ยอมรับกันเพราะมองว่ามันคือการเล่นเกม ซึ่งพอเวลาผ่านไปมันก็ค่อยๆ ถูกยอมรับมากขึ้นว่าสามารถที่จะเป็นกีฬาได้ ทุกวันนี้ก็มีในซีเกมส์ที่แข่งเกมกันแล้ว เราเลยได้เห็นการพัฒนาของมันมาจากการเล่นเกมธรรมดา พอมาวันนี้ถ้าเราเล่นเกมเก่งก็สามารถเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตได้เหมือนกัน ผมหวังว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้คนเห็นว่าการเล่นเกมเป็นกีฬาได้ ไม่ใช่แค่เพียงการเล่นเกมอย่างเดียว เพราะได้ทั้งมิตรภาพด้วย และเป็นกีฬาระดับชาติที่เราไปคว้าเหรียญทองมาเหรียญแรกซึ่งสุดยอดมากๆ ครับ

ในฐานะของคนเจน Z ถึงหนัง “Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่”

ผมคิดว่ามันเป็นหนังในรูปแบบที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนมากกว่า และเป็นการสะท้อนตัวตนของคนเจเนอเรชัน Z ผ่านตัวเกมที่ดึงเอาความสัมพันธ์ระหว่างคนเจน X กับเจน Z ให้มาลิงก์กันอีกที เรามองว่านี่เป็นหลายๆ อย่างที่แปลกใหม่เลยทีเดียว และบวกกับความแอคชั่นลงไปอีก โดยส่วนตัวผมชอบหนังแอคชั่นมากๆ ก็เลยจะอินกับแนวนี้เป็นพิเศษครับ และมันไม่ใช่แค่อีสปอร์ตอย่างเดียว แต่มันมีพาร์ตความสัมพันธ์ ความซับซ้อน ความขัดแย้งทุกอย่างมารวมกัน และมีอะไรที่มากกว่าการเป็นแค่หนังเกมซึ่งบอกไม่ได้ ต้องไปดูกันเองครับ รับรองว่าจะไม่ผิดหวังแน่นอนครับ “Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่”

2

และสุดท้าย “วี-วีรยา จาง” ที่เปลี่ยนลุกส์เป็นสาวแกร่ง สร้างสุดยอดสีสันกับภาพยนตร์เรื่องแรก

บทบาท-คาแร็กเตอร์

มะปราง เธอก็คืออดีตผู้เล่นของทีม “Higher” ที่โดนไล่ออกมาพร้อมกับกอบศักดิ์ ด้วยเหตุผลบางอย่าง ซึ่งคาแร็กเตอร์มะปรางจะเป็นเด็กที่บ้านมีฐานะ พ่อแม่ก็สนับสนุนการเล่นเกม และเป็นคนที่แต่งตัวแฟชั่นตามสมัยนิยม แต่เป้าหมายเดียวที่เธอต้องการมากที่สุดก็คือ การเป็นโปรเพลเยอร์ไปสู่ระดับชั้นนำของโลกในอนาคต มันเลยเป็นจุดที่เธอพยายามพิสูจน์ตัวเองให้หนัก แล้วประจวบเหมาะกับการที่กอบศักดิ์ได้จัดตั้งทีมใหม่ชื่อ “Ohmgaga” แม้จะคาบเกี่ยวกับการที่เธอต้องตัดสินใจไปเรียนต่อต่างประเทศพอดี แต่ถึงอย่างนั้นมะปรางเองก็ตัดสินใจเข้าร่วมเพราะอยากจะคว้าแชมป์ตามที่ตั้งใจเอาไว้ก่อน พร้อมกับการโค่นทีม Higher ให้ได้ด้วยค่ะ

จากไอดอล BNK48 สู่ภาพยนตร์เรื่องแรก

เริ่มจากการที่ทางผู้ใหญ่ให้โอกาสเราไปแคสต์หนังเรื่องนี้ ซึ่งเราเองก็ตื่นเต้นมากเพราะตอนเด็กๆ มีความฝันอยากจะเป็นนักแสดง จนได้มาเป็น BNK48 และตอนที่เราได้เห็นบทก่อนไปแคสต์เลยรู้ว่าเกี่ยวกับเกม มันก็จะมีทั้งความดีใจและความกดดัน เพราะแฟนๆ เขารู้ว่าวีเป็นคนเล่นเกม ซึ่งมันจะมีกลุ่มที่คาดหวังว่า “น้องวีเป็นคอเกม และได้แสดงหนังที่เกี่ยวกับเกม ต้องทำออกมาได้ดีมากแน่ๆ เลย” แล้วพอวันนั้นเข้าไปแคสต์

และออกมาเราก็รู้สึกตลอดว่า “มันดีหรือเปล่านะ” ซึ่งก็รอว่าผลจะออกมาเป็นยังไง พอรู้ว่า “เราได้เล่น” มันดีใจมากจริงๆ ค่ะ และพอได้เข้าไปทำการแสดงครั้งแรกก็จะตื่นเต้นพอสมควร เพราะเราไม่รู้ว่าในกองถ่ายมันเป็นยังไงมาก่อน มันจึงแปลกใหม่มากๆ ทางด้านการทำงาน และเข้าใจเลยว่าเบื้องหลังมันเป็นอย่างนี้นี่เอง ได้เห็นการย้ายกล้องต่างๆ เนื่องจากการถ่ายหนังมันใช้แค่กล้องเดียว ก็เลยต้องเปลี่ยนตำแหน่งตลอดเวลา ก็รู้สึกสนุกดีค่ะ และยังได้ประสบการณ์ใหม่ๆ กลับมาอีกด้วย

สุดยอดไอเดียของ “Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่”

ครั้งแรกที่ได้อ่านก็คือ ‘ว้าว’ เลย มันเป็นหนังแนวใหม่มากๆ เป็นหนังเกมที่ครบทุกรสชาติ มีแก่นเรื่องที่สะท้อนสังคม โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เกมเข้ามามีส่วนร่วมกับชีวิตเรามากขึ้น และด้วยความที่เราเป็นเด็กเจน Z หนังเรื่องนี้มันได้ทำหน้าที่สื่อถึงอะไรหลายอย่างมากๆ ค่ะ ทั้งเรื่องความสัมพันธ์แม่ลูกที่ไม่เข้าใจกัน หรือความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมทีม สำหรับหนูคิดว่าหนังมันนำเสนอได้ดีและลงลึกมากๆ อีกทั้งยังมีมุมมองที่เปลี่ยนความคิดใหม่ในทางบวก ผ่านเรื่องราวที่มันพูดถึงชีวิตวัยรุ่น แน่นอนว่ามันจะต้องออกมาสนุก และมีสาระเต็มอิ่มที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องราวนั้นด้วย

การเตรียมตัวรับบท “มะปราง”

ก่อนที่จะได้รับบทมะปราง เราก็ต้องไปเวิร์กช็อปหลายๆ อย่างทั้งที่การีนา, สหมงคลฟิล์มฯ และสตูดิโอ เราไปเวิร์กช็อปกันเป็นกลุ่มเลยค่ะ อย่างที่การีนาคือต้องไปเรียนรู้ตัวละครแต่ละตัวในเกม เช่น แทงค์มีหน้าที่อะไร ควรจะอยู่เลนไหน และทำอะไรในเกม มันจำเป็นมากเพราะเราต้องเอาใช้ในการแสดงเหมือนกัน ส่วนที่สหมงคลฟิล์มฯ ก็ไปเวิร์กช็อปคนเดียวกับคุณครูสอนการแสดง ซึ่งเขาก็จะยกตัวอย่างตัวละครขึ้นมาโดยให้เราใส่คาแร็กเตอร์นั้นเข้าไปและให้ลองเล่นดู อันนี้มันช่วยสอนให้เราเข้าใจในตัวละคร ส่วนที่สตูดิโอก็เหมือนอยากให้เราสนิทกันมากกว่าค่ะ ไม่ให้มีความเกร็ง และรู้สึกคุ้นชินกัน เพราะว่าแต่ละคนก็ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เพื่อสะดวกในการทำงาน

แต่ที่สำคัญมากๆ ในการเตรียมตัวก็คือ มันต้องทำความเข้าใจกับตัวละครมะปราง และมีความยากตรงที่ต้องถ่ายทอดคาแร็กเตอร์ให้ชัดเจนที่สุด ซึ่งทาง “พี่เสือ ยรรยง” ก็จะชอบบอกกับหนูเสมอว่า “บทนี้มันดีต่อการเริ่มต้นในฐานะนักแสดง” ซึ่งพี่ๆ หลายคนก็แนะนำว่าให้อ่านเยอะๆ และตีความว่าคาแร็กเตอร์มันเป็น

คนยังไง ทำไมมันพูดไดอะล็อกนี้ออกมา เป้าหมายสูงสุดของมันคืออะไร ในเรื่องนี้ก็มีหลายอารมณ์มากในเรื่อง มันครบรสจริงๆ แล้วเป็นเรื่องเกมอีก เป็นหนังเกมที่มีทั้งอีโมชั่น, แอคชั่น, โรแมนติก ซึ่งก็แปลกใหม่ดีค่ะ และเหมือนเราได้เพิ่มประสบการณ์ว่าตัวเองได้ผ่านอะไรแบบนี้มา มันก็สามารถนำไปต่อยอดในอนาคตได้มากเหมือนกัน

เปลี่ยนลุกส์จากสาวห้าว มาเป็นสาวแกร่งในเรื่องนี้

หนูเป็นสาวห้าวที่บางครั้งก็สาวแตกค่ะ (หัวเราะ) พอได้มารับบทมะปรางคือต้องกลายเป็นคนที่มีความหนักแน่นในคำพูด และในความคิดหลายๆ อย่างเลย ซึ่งต่างจากตัวจริงของหนูมากๆ ขณะเดียวกันมะปรางก็จะมีความเป็นผู้นำมากๆ ตอนอยู่ในทีม เพราะสมาชิกแต่ละคนคือค่อนข้างที่จะเละเทะ ทำให้มะปรางต้องเป็นคนคอยเรียกทุกคนมารวมตัวและมาซ้อมตลอดเวลา ก็เหมือนกับในเกมที่เธอได้เล่นตำแหน่ง “แทงค์” ที่จะต้องคอยดูแลสถานการณ์ตลอดเวลาในเกม และคอยช่วยเหลือซัปพอร์ตอยู่เรื่อยๆ ค่ะ ซึ่งมันก็ถือว่าสอดคล้องกันมากกับตัวละครมะปรางที่เธอเองก็ทำได้เต็มที่แล้วจริงๆ ถ้าเป็นตัวจริงหนูก็ลังเลๆ หน่อยค่ะ แต่เพื่อการแสดงมันก็ต้องเปลี่ยนอะไรเยอะในเวลาเราสวมวิญญาณเป็นคาแร็กเตอร์นั้นแล้ว เชื่อว่าต้องทำอย่างนี้สำหรับตัวละคร

3

การเป็นตัวแทนของผู้หญิงเล่นเกม

คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นผู้หญิงเล่นเกมนั้นไม่ใช่ของคู่กัน แต่หนูมองว่าการเล่นเกมมันคืองานอดิเรกสิ่งหนึ่งที่ทุกคนสามารถชอบได้ ไม่ว่าจะเพศไหน วัยไหน ก็สามารถชอบได้หมด แล้วยิ่งเวลาไปเล่นเกมกับผู้ชายก็ชอบคิดว่าผู้หญิงอ่อนแอ โดยไม่รู้ว่าเอาอะไรมาตัดสินที่เป็นผู้หญิงแล้วจะเล่นเกมไม่เก่ง คนเรามันก็พัฒนากันได้หมด เช่นเดียวกับมะปรางที่เป็นนักสู้ เธอคือคนที่เล่นเก่งมากๆ และยังเป็นแทงค์ที่คอยควบคุมเกมด้วยซ้ำ เลยไม่อยากให้มองว่าผู้หญิงจะเล่นเกมไม่เก่งเสมอไป

การร่วมงานกับทีมนักแสดงในเรื่องนี้

ทีม “Ohmgaga” คือสบายใจที่สุดแล้วค่ะ เพราะเราได้เวิร์กช็อปด้วยกันซึ่งมีทั้ง “พี่นนท์, พี่บอส, น้องเตชินท์, พี่เติร์ด และ พี่อ้อม” มันสนุกมากค่ะตรงที่ต่างคนต่างก็ตลก และมีคาแร็กเตอร์โดดเด่นเป็นของตัวเอง อย่างพี่นนท์จะเป็นคนคอยส่งเสียงหัวเราะตลอดเวลาเลย ส่วนน้องเตชินท์ก็จะแบบว่าพูดไม่เยอะ แต่การกระทำของน้องคือมาเมื่อไหร่ก็ตลก ส่วนพี่เติร์ดชอบแกล้งค่ะ ส่วนพี่บอสจะชอบนอนทั้งวันค่ะ หันไปทีไรก็

หลับตลอด (หัวเราะ) และพี่อ้อมเราเจอก็ยกมือไหว้สวัสดี แต่เขาวัยรุ่นนะ เพราะหนูเห็นพี่อ้อมเล่นเกมไปหลายตามาก คือเขาต้องทำการบ้านค่ะ แล้วก็อึ้งมากตรงที่พี่อ้อมจำบทได้เก่ง มันจะมีซีนหนึ่งที่พี่อ้อมต้องจำบทพูดยาวมากๆ และในตอนนั้นหนูต้องอึ้งจริงๆ เพราะมันไม่ใช่บทคำพูดปกติที่เราจะพูดกันและเกี่ยวกับในเกมด้วย ถึงหนูเป็นคนเล่นเกมก็ยังไม่รู้เลยว่ามันต้องขนาดนี้เลยเหรอ หรือบางทีจะเข้ามาถามว่าช่วงนี้วัยรุ่นเขาไปเที่ยวไหนกัน อยากรู้ว่าวง “Blackpink” มีกี่คนแล้ว เนื่องจากลูกสาวพี่อ้อมเขาชอบมากๆ ตรงนี้พี่อ้อมก็จะเข้ามาถามเสมอ 

การร่วมงานกับผู้กำกับ “เสือ ยรรยง”

ตอนที่ได้เจอพี่เสือครั้งแรกคือ หนูกลัวมากๆ เพราะด้วยคาแร็กเตอร์ของเขาค่ะ แต่พอหนูได้รู้จักพี่เขาแล้วกลายเป็นว่าเขาใจดีมากๆ เลย และด้วยความที่เป็นหนังเรื่องแรกก็มาร่วมงานกับพี่เสือก็ดีใจค่ะ เขาเป็นคนที่ถ้าใครเจอครั้งแรกก็ต้องกลัวนะเอาจริงๆ กลับกลายเป็นว่ามันอะเมซิ่งพอเราได้คุยกับเขา เพราะความคิดต่างๆ ที่เขาออกมามันน่าสนใจมากเลย แม้ตอนแรกหนูจะนึกภาพตามไม่ออก จนเมื่อถ่ายจริงก็ทำให้เอาหนูเซอร์ไพรส์ไปหลายรอบอยู่เหมือนกันค่ะ ซึ่งเขาเจ๋งมากๆ เลย 

จากเกมเมอร์ในชีวิตจริง พอมาเล่นเกมในภาพยนตร์แล้วมันเป็นยังไง

ตอนแรกก็คิดว่าเราต้องสนุกมากแน่เลยเวลาถ่าย และมีช่วงหนึ่งคิดว่าเวลาถ่ายตอนเราเล่นนั้น มันจะต้องพูดยังไง จนพอมาถ่ายจริงก็คือ เล่นหน้าจอเปล่าค่ะ บางทีก็ต้องเปิดกล้องไว้เพื่ออัดคลิปตัวเอง ซึ่งเราต้องจินตนาการว่าตอนนี้เราอยู่เลนนี้แล้วนะ ฝ่ายตรงข้ามกำลังเข้ามาเราต้องตั้งรับให้ดี คือมันจะไม่ได้เหมือนการเล่นเกมจริงๆ เราเลยต้องทำการบ้านว่าจังหวะนี้เราควรพูดว่าอะไร

เกมแอคชั่นของวี

ในส่วนความแอคชั่นของหนังก็มีหลายอย่างเลยค่ะ คือตอนแรกหนูคิดว่ามันไม่น่าจะแอคชั่นไขนาดนี้นะ เพราะดูจากในบทและความที่เราไม่รู้ด้วยว่าเขาทำงานกันยังไง หรือว่าซีนนี้มันต้องแอคชั่นรึเปล่านะ เห็นคนอื่นได้แอคชั่นกัน กอบศักดิ์ได้วิ่งฟรีรันนิ่ง โอมได้ชกมวย ซึ่งพอได้เข้ามาเราก็เก็ตว่าแอ็คชั่นมันเป็นอย่างนี้นี่เอง ถ่ายกรีนสกรีน วิ่งขึ้นลงบันไดหลายๆ รอบ หรือเล่นสเก็ตบอร์ด และตัวละครมะปรางเองก็ใส่แต่กระโปรงสั้นให้พัดลมมันเป่าเปิดๆ ก็ลำบากอยู่เหมือนกันนะคะ แต่เราก็โอเคสู้เว้ย (หัวเราะ) ด้วยความที่หนูเป็นพวกผาดโผนอยู่แล้ว มันก็เลยไม่ยากเท่าไร 

แต่ว่าตอนเล่นเกมคือมันต้องเล่นแบบหน้าจอไม่มีเกมอะไรเลย เราต้องจินตนาการว่าเราเล่นเกมอยู่นะ เอาจริงถ้าไม่เคยเล่นมาก่อนมันจะยากมาก และคงต้องไปศึกษาเกมใหม่หมดอย่างพี่อ้อมซึ่งหนูนับถือเขามากๆ แบบว่าเราต้องพูดไปเล่นไปกับหน้าจอเปล่า มันเหนื่อยมาก ยิ่งแต่ละซีนมันจะมีคำพูดในเกมแล้วเราต้องต่อบทกัน 5 คน ก็ต้องทั้งต่อและเล่นไปพร้อมกัน แล้วเราต้องถ่ายทีละคนแบบเจาะเดี่ยวซึ่งเราต้องพูดไป เล่นจอเปล่า สรุปคือเหนื่อยค่ะ ซึ่งถ้าดูภายนอกจริงๆ อาจจะไม่ได้ทำอะไรเลยแค่กดหน้าจอ แต่ว่าพอทำจริงแล้วก็เล่นเอาล้าไปไม่น้อยเลยค่ะในวันนั้น

ความทรหดของซีนอารีนา

ร้อนมากๆ แบบเจ็บแสบเลย เพราะโลเคชั่นมันคือหลุมในโกดังที่มีดินและฝุ่นเต็มไปหมด ซึ่งตอนถ่ายก็จะร้อนและไม่ค่อยมีอากาศหายใจเท่าไร ส่วนพี่ตากล้องก็จะอยู่ข้างบนหลุมและถ่ายซูมลงมาที่หลุม ส่วนพวกหนูก็จะนั่งเล่นกันอยู่ในหลุม อยากเห็นมากเลยว่าภาพจะออกมาเป็นยังไง คนดูอาจจะคิดว่าอยู่ในสตูดิโอก็ได้นะ พี่สไตลิสต์และคอสตูมต้องคอยเตรียมทิชชูเปียกมาเช็ดให้ ทั้งยังต้องซับหน้าตลอดเวลา เพราะเหงื่อมันออกตลอดเวลา ทำให้อยากจะขอย้อนไปถ่ายหน้าหนาวเลยค่ะ (หัวเราะ) แต่สุดท้ายเราก็ผ่านมันมาได้ เดือดมากจริงๆ

จากกีฬาอีสปอร์ตสุดฮิตสู่ภาพยนตร์ที่น่าจับตามอง

ตัวเองก็อยากจะสนับสนุนอีสปอร์ตค่ะ ด้วยความที่เราเล่นเกมมาก่อน คือไม่อยากให้ทุกคนคิดว่าการเล่นเกมมันไร้สาระ เปล่าประโยชน์อะไรขนาดนั้น เพราะมันก็มีมุมที่ดีของมัน ถ้าไม่เช่นนั้นคงเอามาเป็นการแข่งไม่ได้ แถมยังเป็นอาชีพสร้างกำไรได้ด้วย สามารถสร้างชื่อเสียงได้ และฝึกด้านการใช้ความคิดอีกต่างหาก ซึ่งก็อยากให้ทุกคนสนับสนุนอีสปอร์ตไปเรื่อยๆ มันก็กลายเป็นกีฬาชนิดหนึ่งแล้ว พอมาเป็นหนังก็น่าสนใจมากค่ะ เพราะจะสื่อให้คนได้เห็นมุมมองของอีสปอร์ตว่าเป็นยังไง และไม่ใช่มีเรื่องเกมอย่างเดียว เพราะจะได้รับแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่ถ้ามาดูเรื่องนี้คุณจะได้รับคำตอบกลับไป โดยเฉพาะเรื่องเกมและความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวที่แม่จะได้เข้าใจลูกมากขึ้นด้วย


Photographer : Narin Yun Lourujirakul

Creative Director : Termsit Siriphanich

Editor in Chief : Austin Thein

Special thanks to สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล Sahamongkolfilm International